บริการสังคม

ต้นพลับพลา (Phlap phla)

ชื่อท้องถิ่น : หลาย (แม่ฮ่องสอน), กะปกกะปู (พิษณุโลก), สากกะเบือละว้า (สุโขทัย), คอมขน (ชัยภูมิ), มลาย (ชลบุรี, จันทบุรี, ตราด), พลาขาว (ชุมพร), พลาลาย (ตรัง), พลา (ยะลา, ปัตตานี, ระนอง), พลับพลา ขี้เถ้า (ภาคกลาง), กอม กะปกกะปู คอม พลา ลาย สากกะเบือดง สากกะเบือละว้า หมากหอม (ภาคเหนือ), คอมเกลี้ยง พลองส้ม (ภาคตะวันออก), ก้อมส้ม คอมส้ม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), หมากหอม (ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), น้ำลายควาย พลาขาว พลาลาย (ภาคใต้), มลาย (ภาคตะวันออกเฉียงใต้), จือมือแก (มลายู-ภาคใต้), ปะตัดหูเปี้ยว (เมี่ยน), เกลี้ยง, ก่อออม, กะผล้า, ขนาน, ข้าวจี่, จุกขวด, ม่วงก้อม, มะก้อม, มะคอม, ม้าลาย, ไม้ลาย, ลอมคอม เป็นต้น

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Microcos tomentosa Sm.

วงศ์ : Malvaceae

ข้อมูลทั่วไป

ลักษณะทั่วไป เป็นไม้ยืนต้น หรือไม้พุ่มขนาดกลาง ลำต้นตั้งตรง สูงได้ถึง 15 เมตร เปลือกต้นสีเทา แตกล่อนเป็นสะเก็ดบางๆ เปลือกในสีชมพู มีเส้นใยเรียงตัวเป็นชั้น กิ่งอ่อนและก้านใบ มีขนรูปดาวหนาแน่น ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปวงรีแกมขอบขนาน รูปวงรีแกมไข่กลับ หรือรูปขอบขนานแกมไข่กลับ กว้าง 3-10 ซม. ยาว 6.5-19 ซม. ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีเขียวหม่น ปลายแหลม โคนสอบมน หรือกลม ขอบหยักฟันเลื่อยไม่เป็นระเบียบที่ปลายใบส่วนกลางและโคนใบ ขอบเรียบ ปลายใบเป็นติ่งแหลมสั้นๆ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงกึ่งหนาคล้ายแผ่นหนัง มีขนรูปดาว ทั้งสองด้าน ด้านล่างมีขนหนาแน่นกว่า เส้นแขนงใบ ข้างละ 4-9 เส้น มี 3 เส้น ออกจากโคนใบ เส้นใบย่อยคล้ายขั้นบันได เห็นชัดเจนที่ด้านล่าง ก้านใบยาว 6-12 มม. มีขนหนาแน่น ดอกช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ซอกใบ หรือปลายกิ่ง ยาว 3-15 ซม. ดอกตูมกลม ดอกย่อยจำนวนมาก กลีบดอกสีเหลือง ก้านและแกนช่อดอก มีขนหนาแน่น ใบประดับรูปแถบ หรือรูปใบหอก ยาวได้ ถึง 1 ซม. มีขนหนาแน่น ก้านดอก ยาว 6-8 มม. มีขน เส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ 4 มม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ แยกจากกันเป็นอิสระ รูปช้อน กว้างประมาณ 2 มม. ยาว 6-7 มม. มีขนทั้งสองด้าน กลีบดอก 5 กลีบ แยกจากกัน เป็นอิสระ รูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง 0.5-1.5 มม. ยาว 1.5-3 มม. มีขนสั้น ๆ ทั้งสองด้าน โคนกลีบด้านใน มีต่อมรูปรี เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณู โคนมีขน ปลายเกลี้ยง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปกลม กว้างประมาณ 1 มม. ยาวประมาณ 2 มม. มีขนหนาแน่นมี 2-4 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 2 เม็ด ผลรูปทรงกลมแกมไข่กลับ ผลผนังชั้นในแข็ง กว้าง 0.6-1 ซม. ยาว1-1.2 ซม. ผนังผลคล้ายแผ่นหนัง มีขน ผลแก่สีเขียว ผลสุกสีม่วงดำ เมล็ดแข็ง 1 เมล็ด ผลสุกรับประทานได้ พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ความสูงจากระดับน้ำทะเล 50-300 เมตร ออกดอกและเป็นผล ระหว่าง เดือนเมษายนถึงตุลาคม

 

การใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ

1. ผลสุกใช้รับประทานได้

2. เปลือกให้เส้นใย สามารถนำมาใช้ทำเชือกแบบหยาบ ๆ ได้

3. ผลดิบใช้เป็นของเล่นเด็กที่เรียกว่า “บั้งโผ๊ะ” หรือ “ฉับโผง” โดยนำมาใช้ทำเป็นกระสุนยิงจากกระบอกไม้ไผ่

4. เนื้อไม้มีความทนทานสูงจึงนิยมนำมาใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือใช้ทำเครื่องเรือน

5. ไม้พลับพลาเป็นเชื้อเพลิงที่ติดไฟได้ง่ายแม้เป็นไม้สด คนใต้สมัยก่อนจึงนิยมนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเผาศพ และใช้ในการอยู่ไฟของสตรีคลอดบุตรใหม่

6. ส่วนน้ำมันยางจากเปลือกก็สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง

 

สรรพคุณทางการแพทย์

1. แก่นช่วยแก้หืด วิธีการใช้

2. เปลือกใช้ผสมปรุงเป็นยาบำรุงโลหิตสตรี และใช้ทำลายพิษของต้นยางน่องได้

3. ลำต้นใช้เป็นยาประกอบรักษาโรคลำไส้

4. ผลแก่มีรสเปรี้ยวใช้รับประทานเป็นยาระบาย

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้ต้นพลับพลาเป็นสมุนไพร ในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำราต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไปหรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็กสตรีมีครรภ์ หรือ ผู้ป่วยเรื้อรังก่อนจะใช้พลับพลาเป็นยาสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง

อ้างอิง

กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อใช้ในการอ้างอิง