บริการสังคม

ต้นมะกอกเกลื้อน (Ma kok kluean)

ชื่อท้องถิ่น : มะเลื่อม (พิษณุโลก, จันทบุรี), มักเหลี่ยม (จันทบุรี), โมกเลื่อม (ปราจีนบุรี), มะกอกเกลื้อน (ราชบุรี), มะเหลี่ยมหิน (มหาสารคาม), มะเกิ้ม (ภาคเหนือ), กอกกัน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), มะกอกเลื่อม (ภาคกลาง), มะกอกเลือด (ภาคใต้), มะกอกกั๋น (คนเมือง), มะเกิ้ม (ไทลื้อ), เกิ้มดง เพะมาง สะบาง ไม้เกิ้ม (ขมุ), ซาลัก (เขมร)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Canarium subulatum Guillaumin

วงศ์ : Burseraceae

 

ข้อมูลทั่วไป

ลักษณะทั่วไป เป็นไม้ยืนต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบ สูง 10-25 เมตร ลำต้นตั้งตรง เรือนยอดกลม เปลือกสีน้ำตาลอมเทาถึงเทาแก่ แตกเป็นสะเก็ด หรือแตกเป็นร่องตามยาว มียางใสหรือขาวขุ่น เมื่อแห้งเป็นสีน้ำตาลดำ เปลือกชั้นในสีน้ำตาลอ่อนมีขีดเส้นขาวๆ กิ่งอ่อนมีขนสี้น้ำตาอมส้มหนาแน่น ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ใบย่อย 2-5 คู่ เรียงตรงข้าม ใบประกอบยาว 12-14 ซม. แกนกลางยาว 8.5-12 ซม. ใบรูปขอบขนานหรือรูปรีแกมรูปไข่ กว้าง 8-9 ซม. ยาว 10-18 ซม. ปลายเป็นติ่งแหลม โคนมนหรือเบี้ยวเล็กน้อย ขอบจักฟันเลื่อยถี่ แผ่น ใบกึ่งหนา คล้ายแผ่นหนัง หลังใบเกลี้ยง ท้องใบมีขน เส้นแขนงใบ ข้างละ 8-15 เส้น ก้านใบย่อยยาว 0.5-1.2 ซม. ก้านใบร่วมมีหูใบแคบ 1 คู่ ขนาด 10-25 มิลลิเมตร ใบแก่สีแดงเข้ม  ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ยาว 7-25 ซม.ออกที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกย่อยจำนวนมาก มีทั้งดอกสมบูรณ์เพศและดอกแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ช่อดอกเพศผู้มักเป็นแบบช่อกระจุกแยกแขนงยาว 7-25 เซนติเมตร ช่อดอกเพศเมียมักเป็นแบบช่อกระจะยาว 8-10 เซนติเมตร กลีบดอกสีขาวแกมเหลือง กลีบเลี้ยงโคนกลีบเชื่อมติดกัน เป็นรูปถ้วย ยาว 2-3 มม. ปลายแยกเป็น 3 แฉก ยาว 0.5-1 มม. มีขนนุ่มทั้งสองด้าน กลีบดอก 3 กลีบ รูปขอบขนาน กว้าง 2-2.5 มม. ยาว 7-8 มม. เกสรเพศผู้ 6 อัน เชื่อมกันที่ฐานเป็นท่อสั้นๆ ช่อดอกเพศผู้ยาว 7-11 มม. มีขนทั่วไป รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปรีมี 3 ช่อง แต่ละช่อง มีออวุล 2 เม็ด ผลสดรูปกระสวย ช่อยาว 2.5-8 เซนติเมตร มีประมาณ 1-4 ผลต่อช่อ ผลอ่อนสีเหลือง ผลแก่สีเขียวอมเหลือง กว้างประมาณ 2 ซม. ยาว 2.5-3.5 ซม. โคนผลมีกลีบเลี้ยงติดทน ขนาดกว้าง 6-15 มิลลิเมตร เมล็ดรูปกระสวย 3 เมล็ด เรียงกันเป็นรูปสามเหลี่ยม ชั้นหุ้มเมล็ดแข็งมาก พบขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าละเมาะและป่าหญ้าทั่วไป ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 100-1,200 เมตร

 

การใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ

1. ผลสดมีรสฝาดเปรี้ยวใช้รับประทานได้ มะกอกเกลื้อนจัดเป็นพืชป่าเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่ง ประชาชนสามารถเก็บผลมาขายได้ โดยการนำผลมาดองและแช่อิ่มแทนลูกหนำเลี๊ยบรับประทานหรือจะใช้ผลแก่รับประทานเป็นผักร่วมกับน้ำพริกก็ได้

2. ยางสดใช้เป็นเครื่องหอม

3. เนื้อไม้สามารถนำมาใช้ทำโครงสร้างต่าง ๆ ของบ้านได้ เช่น หน้าต่าง ประตู กระดาน พื้น ฝา เครื่องมือเครื่องใช้ภายในร่ม ทำก้านและกลัดไม้ขีดไฟ ทำพิณ ฯลฯ (ในปัจจุบันไม้มะกอกเกลื้อนจัดเป็นไม้หวงห้ามธรรมดา ประเภท ก.)

4. ต้นมะกอกเกลื้อนเป็นไม้โตเร็ว จึงนิยมนำมาปลูกเป็นไม้เบิกนำในการปลูกป่า เนื่องจากเป็นไม้เนื้ออ่อน กิ่งหักง่าย และก่อให้เกิดโพรงเมื่อฝนตกลงมา ทำให้น้ำฝนมาขังอยู่ในโพรงตลอดปี ชาวอีสานจะเรียกโพรงนี้ว่า “สร้างนก” ซึ่งหมายถึงแอ่งน้ำสำหรับนก ที่ทำให้นกมีน้ำกินตลอดทั้งปี

 

สรรพคุณทางการแพทย์

1. ผลนำมารับประทานเป็นยาแก้ไอ  หรือใช้ผลสดหรือผลแห้งนำมาต้มเอาน้ำกิน หรือใช้ผลแห้งนำมาตำให้ละเอียด แล้วนำมาชงกับน้ำกินเป็นยาแก้ไอ ขับเสมหะ น้ำลายเหนียว

2. เปลือกต้นมะกอกเกลื้อนเป็นยารักษาโรคลักปิดลักเปิดหรือโรคเลือดออกตามไรฟัน

3. แก่นมีรสเฝื่อนใช้เป็นยาแก้โลหิตระดูพิการ และใช้เป็นยาแก้ประดง (อาการของโรคผิวหนังที่เป็นเม็ดขึ้นคล้ายผด มีอาการคันมากและมักมีไข้ร่วมด้วย)

4. ยางสดใช้เป็นยาทาภายนอกแก้อาการคัน ตุ่มคันหรือเม็ดผื่นคัน

 

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง​

สำหรับการใช้ต้นมะกอกเกลื้อนเป็นสมุนไพร ในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำราต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไปหรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็กสตรีมีครรภ์ หรือ ผู้ป่วยเรื้อรังก่อนจะใช้มะกอกเกลื้อนเป็นยาสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง

อ้างอิง

กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อใช้ในการอ้างอิง