บริการสังคม

ต้นแจง (Jang)

ชื่อท้องถิ่น : แกง (นครราชสีมา)  หรือแก้ง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Maerua siamensis (Kurz) Pax

วงศ์ : Capparaceae

ข้อมูลทั่วไป

ที่มา สกุลแจงมีประมาณ 90 ชนิด ส่วนใหญ่มีเขตการกระจายพันธุ์ในเขตแห้งแล้งของแอฟริกา ถ้าดูตามชื่อวิทยาศาสตร์มีคำว่า “ สยาม ” อยู่ด้วย หมายถึง ต้นแจงนี้เป็นไม้ในสกุลที่มีเพียงชนิดเดียวในประเทศไทย คือ แจง Maerua siamensis (Kurz) Pax  แจงมีเขตการกระจายพันธุ์เฉพาะในภูมิภาคอินโดจีนรวมทั้งประเทศไทย  จึงสามารถพบได้ในทุกภาค แต่ในภาคใต้พบเฉพาะทางตอนบน  แจงขึ้นได้ในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าแดง และป่าชายหาดหรือตามป่าโปร่ง ที่โล่ง

ลักษณะทั่วไป เป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูง 10–15ม. ผลัดใบแต่ใบใหม่ไว เรือนยอดแผ่เตี้ยเป็นพุ่มทึบรูปร่ม เปลือกเรียบ สีเขียวเข้มเกือบดำ แตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงสลับ มี 3–5 ใบ ย่อย ใบรูปขอบขนาบแกม รูปไข่ กว้าง 1.5–2.5 ซม. ยาว 3–13 ซม. ปลายใบตัดมีติ่งแหลมโคนใบสอบแคบ ขอบใบเรียบ แผ่นใบหนาเป็นมันมีสีเขียวเข้มทึบ เส้นแขนงใบข้างละ 8–11 เส้น ก้านใบร่วมยาว 2–6.5 ซม. ดอก สีขาว ออกเป็นดอกเดี่ยวหรือช่อแบบช่อเชิงหลั่นหรือช่อแบบช่อกระจะตามกิ่งและปลายกิ่ง กลีบเลี้ยง 4 กลีบ แยกกันเป็นอิสระหรือเชื่อมติดกันเป็นท่อสั้น ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้ยาว 10–15 มม. ดอกบานเต็มที่กว้าง 1.5–2 ซม. ผลแบบผลมีเนื้อหลายเมล็ด รูปกลมหรือบิดเบี้ยวเล็กน้อย เมื่อสุกสีเหลือง กว้าง 2 ซม.

การขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด

 

การใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ

1. ยอดอ่อนของต้นแจงสามารถนำมาดองก่อนจึงจะรับประทานได้ หรือที่ภาษาอีสานเรียกว่าคั้นส้ม  เช่นเดียวกับการกินยอดผักกุ่ม  ที่ต้องนำไปดองหรือคั้นส้มก่อนรับประทาน เนื่องจากขณะที่ยังสดๆ “มีสารกลุ่มไซยาไนด์” แต่เมื่อนำไปดองหรือคั้นส้ม สารเหล่านี้จะถูกทำให้สลายตัวไป  คนอีสานเชื่อว่าถ้าได้กินคั้นส้มของยอดอ่อนของต้นแจงปีละครั้งจะช่วยให้ไม่เข้าสู่ สภาวะสายตายาว หรือแก่เฒ่าแล้วยังมองเห็นอะไรๆ ได้อย่างชัดเจน โดยไม่ต้องพึ่งแว่นสายตายาว

2. ภูมิปัญญาในการผลิตลูกแป้งหรือแป้งข้าวหมากของบางหมู่บ้าน มีการใช้ลำต้นของต้นแจงเป็นส่วนผสมที่สำคัญในการผลิตลูกแป้งด้วย

3. ไม้สีขาวอ่อนและล่อนเป็นกาบๆ นิยมนำเอามาเผ่าถ่าน ใช้ทำถ่านที่มีคุณภาพดี และนำถ่านมาทำดินปืน  นอกจากนี้ยังนิยมนำมาทำถ่านอัดในบั้งไฟ

 

สรรพคุณทางการแพทย์

1. ต้น และราก บำรุงกำลัง ขับปัสสาวะ แก้ปวดเมื่อย แก้ปัสสาวะพิการ แก้กระษัย

2. ใบ และยอด ตำใช้สีฟัน แก้แมงกินฟันทำให้ฟันทน และแก้ไข้

3. แก่นแก้ไข้ตัวร้อน

4. ยอดอ่อนนำมาต้ม ล้างหน้าแก้ตาฝ้าฟาง

5. เปลือกบำรุงกำลัง แก้หน้ามืดตาฟาง  แก้ปัสสาวะพิการ แก้กระษัยปวดเมื่อยตามร่างกาย

6. ใบสามารถนำมาทำลูกประคบสำหรับหญิงที่คลอดลูกเพื่อลดความปวดเมื่อยล้า แก้ฟกช้ำ แก้ขัดเบา วิธีการใช้

7. เปลือกไม้ ราก ต้มอาบอบ กิน แก้อัมพฤกอัมพาต

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง​

สำหรับการใช้ต้นแจงเป็นสมุนไพร ในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำราต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไปหรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็กสตรีมีครรภ์ หรือ ผู้ป่วยเรื้อรังก่อนจะใช้แจงเป็นยาสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง

อ้างอิง

กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อใช้ในการอ้างอิง