บริการสังคม

ต้นขี้อ้าย (Khi ai)

ชื่อท้องถิ่น : กำจาย (เชียงใหม่), สลิว (ตาก), แสนคำ แสงคำ สีเสียดต้น (เลย), หนามกราย (นครราชสีมา), หอมกราย (จันทบุรี), ขี้อ้าย หานกราย (ราชบุรี), เบน เบ็น (สุโขทัย), มะขามกราย หามกราย หนามกราย (ชลบุรี), ประดู่ขาว (ชุมพร), แฟบ เบ็น (ประจวบคีรีขันธ์), ตานแดง (ประจวบคีรีขันธ์, สุราษฎร์ธานี, สงขลา), คำเจ้า พระเจ้าหามก๋าย พระเจ้าหอมก๋าย ปู่เจ้า ปู่เจ้าหามก๋าย สลิง ห้ามก๋าย (ภาคเหนือ), แสงคำ แสนคำ สังคำ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), กำจำ (ภาคใต้), แนอาม (ชอง-จันทบุรี), หนองมึงโจ่ หนองมึ่งโจ่ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Terminalia nigrovenulosa Pierre

วงศ์ : Combretaceae

 

ข้อมูลทั่วไป

ลักษณะทั่วไป เป็นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นจะมีความสูงประมาณ 3 – 10 เมตร ส่วนที่โคนต้นมีพูพอนขนาดเล็ก มักจะมีกิ่งย่อยรอบ ๆ ลำต้นทางด้านล่าง และจะร่วงโรยไปเมื่อแก่ เปลือกจะเรียบ มีสีน้ำตาล และจะมีรอยแตกตามความยาวตื้น ใบ จะมีลักษณะเป็นใบเดี่ยว และเรียงสลับกัน หรือตรงกันข้ามกัน จะเป็นรูปไข่ มีความกว้างประมาณ 3 – 6 ซม. ยาวประมาณ 6 – 10 ซม. ขนเกลี้ยง เนื้อใบบางคล้ายกระดาษและปลายใบของมันจะแหลม โคนใบจะสอบและแคบ หรือกลม จะมีต่อมอยู่ 1 คู่ ที่ขอบใบใกล้ ๆ โคนใบ ก้านจะเล็กเรียวและยาวประมาณ 0.5 – 1.2 ซม. ดอก จะออกเป็นช่อตามง่ามใบหรือที่ปลายกิ่ง ดอกนั้นจะเป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบรองกลีบดอกจะเชื่อมติดกัน ด้านล่างจะเป็นท่อยาวประมาณ 0.8 มม. ด้านบนจะแผ่ออกเป็นรูปถ้วยตื้น ตรงปลายจะแยกเป็นกลีบรูปไข่มี 4 – 5 กลีบ ไม่มีกลีบดอก เกสรตัวผู้นั้นจะมีอยู่ 10 อัน และจะมีก้านเกสรตัวผู้ยาวราว ๆ 3 มม. ส่วนรังไข่นั้นจะมีอยู่ 1 ช่อง ท่อเกสรตัวเมียจะยาว 2.5 มม. ผล มีลักษณะเป็นรูปขอบขนานหรือเบี้ยว และกว้าง 1.0 – 1.5 ซม. ยาวประมาณ 1.5 – 2.5 ซม. มีปีก 3 ปีก เกลี้ยง เปลือก จะมีรสฝาด

 

การใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ

1. เปลือกต้นมีรสฝาด นำมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใช้กินกับหมากแทนสีเสียดได้

2. เยื่อหุ้มเมล็ดมีรสหวาน ใช้รับประทานได้

3. เปลือกต้นใช้เป็นสีย้อมผ้า โดยจะให้สีเหลือง

4. น้ำยางใช้หยอดประทานด้ามมีดแทนครั่ง

5. ไม้ขี้อ้ายเป็นไม้เนื้อแข็งค่อนข้างหนัก สามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน ทำเครื่องเรือน ต่อเรือ หรือ เครื่องมือทางการเกษตรได้

 

สรรพคุณทางการแพทย์

1. เปลือกใช้เป็นยาคุมธาตุและให้อุจจาระเป็นก้อน แก้อุจจาระเป็นฟอง ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ใช้เป็นยากล่อมเสมหะและอาจม ใช้เป็นยาแก้เสมหะเป็นพิษ และใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ

2. เปลือกใช้เป็นยาภายนอกชะล้างบาดแผลเรื้อรังและช่วยห้ามเลือด วิธีการใช้

3. ผลนำมารับประทานใช้บรรเทาอาการท้องร่วงอย่างแรง เป็นบิด ปวดเบ่ง ท้องเดิน

4. ผลใช้เป็นยาแก้อุจจาระเป็นมูกเลือด

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง​

สำหรับการใช้ขี้อายเป็นสมุนไพร ในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำราต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไปหรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็กสตรีมีครรภ์ หรือ ผู้ป่วยเรื้อรังก่อนจะใช้ขี้อายเป็นยาสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง

อ้างอิง

กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อใช้ในการอ้างอิง