บริการสังคม

ต้นหมีเหม็น (Mee Men)

ชื่อท้องถิ่น : หมูเหม็น (แพร่), ดอกจุ๋ม (ลำปาง), หมี (อุดรธานี, ลำปาง), ตังสีไพร (พิษณุโลก), อีเหม็น (กาญจนบุรี, ราชบุรี), หมูทะลวง (จันทบุรี), มะเน้อ ยุบเหยา (ภาคเหนือ, ชลบุรี), ทังบวน (ปัตตานี), มัน (ตรัง), มะเย้ย ไม้หมี่ (คนเมือง), ไม้ต๊องช้าง (ไทยใหญ่), ลำหญุบหญอ (ลั้วะ), มือเบาะ (มลายู-ยะลา), ส่ปึยขู้ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), หมีเหม็น 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Litsea glutinosa (Lour.) C. B. Rob.

วงศ์ : Lauraceae

 

ข้อมูลทั่วไป

ลักษณะทั่วไป เป็นไม้ยืนต้น สูง 5-15 เมตร ใบ เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปวงรีแกมขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ กว้าง 7.7-10 ซม. ยาว 14.8-22 ซม. ผิวใบด้านล่างมีขน ดอก เป็นช่อออกเป็นกระจุกที่ซอกใบ ไม่มีกลีบดอก เกสรตัวผู้มีจำนวนมาก สีเหลืองอ่อนปนเขียว ดอกแยกเพศอยู่คนละต้น ดอกย่อยมี 7-9 ดอก ต่อช่อ ผล รูปทรงกลมเมื่อสุกสีม่วงเข้ม มี 3-5 ผล ต่อช่อ 

การขยายพันธุ์ โดยการใช้เมล็ด

 

การใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ

1. ผลสุกใช้รับประทานได้

2. ใบนำมาขยี้ผสมกับน้ำซาวข้าว ใช้เป็นยาสระผม ช่วยป้องกันรังแค และทำให้ผมนุ่ม หรือจะนำใบและยอดอ่อนมาผสมกับเปลือกต้นเถารางแดง ส้มป่อยหรือมะนาวหรือมะกรูด และน้ำด่าง (น้ำขี้เถ้า) นำมาผสมแล้วต้มรวมกัน แล้วนำน้ำที่ได้ไปสระผมก็ได้

3. ใบสดใช้เป็นยาพอกศีรษะเพื่อฆ่าเหา

4. เปลือกใช้ย้อมสีผ้า ย้อมแหให้ติดสี ผงจากเปลือกใช้ทำธูปจุดไล่แมลง

5. ยางของต้นใช้ทาเครื่องจักสานให้หนาและทนทาน และใช้ดักแมลงตัวเล็ก

6. เนื้อไม้ของต้นสามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน เฟอร์นิเจอร์ หรือนำลำต้นมาใช้ทำฟืน

7. ใบหมี่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในทางเครื่องสำอางได้ดี เพราะหาได้ง่าย ราคาไม่แพง เนื่องจากมีสารเมือก (mucilage) ที่สามารถนำมาใช้เป็นสารเคลือบผิวและผมในการปกป้องและให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวและผม อีกทั้งสารสกัดจากใบยังมีสารสำคัญที่มีคุณสมบัติเป็นสารเพิ่มความหนืดให้กับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหรือยาที่ใช้ภายนอกได้อีกด้วย

8. ในด้านประเพณีและความเชื่อ บางท้องถิ่นจะใช้ใบนำมาห่อข้าวต้มประกอบในพิธีบายศรีสู่ขวัญ ใช้แก่นทำช่อฟ้าอุโบสถ ส่วนในด้านความเชื่อนั้น มีการขูดเปลือกเพื่อขอหวย ใช้ใบไล่ผี เวลาเดินทางไกลจะนำใบมาเหน็บบั้นเอวไว้ โดยเชื่อว่าจะทำให้หายจากอาการจุกเสียด นอกจากนี้ยังเชื่อว่าคนท้องที่สระผมด้วยใบหมี่กับน้ำซาวข้าวแล้วจะช่วยให้คลอดบุตรได้ง่ายขึ้น

 

สรรพคุณทางการแพทย์

1. ราก แก้ปวดกล้ามเนื้อ  ใบและเมล็ดตำพอกฝีแก้ปวด เป็นยาบำรุงกำลัง

2. รากใช้เป็นส่วนผสมของยาเย็น ยาผง ยาแก้ซาง

3. เปลือกต้น แก้บิดแก้ท้องเสีย แก้ปวดมดลูก แก้คัน 

4. เปลือกต้นนำมาบดให้เป็นผงใช้ผสมกับน้ำหรือน้ำนมทาแก้แผลอักเสบ และเป็นยาห้ามเลือด

5. เปลือกต้นใช้ฝนทาแก้ผื่นคัน แสบร้อน แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย

6. ใบตำพอกแก้อาการระคายเคืองของผิวหนัง แก้พิษแมงมุม ใบสดใช้ขยี้ทารักษากลากเกลื้อน

7. ยางมีรสฝาดร้อน ใช้ตำพอกทาแก้ฟกช้ำ แก้ช้ำบวม

8. ผลดิบให้น้ำมันที่สามารถนำมาใช้เป็นยาถูนวดแก้ปวดได้

 

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง​

สำหรับการใช้ต้นหมีเหม็นเป็นสมุนไพร ในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำราต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไปหรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็กสตรีมีครรภ์ หรือ ผู้ป่วยเรื้อรังก่อนจะใช้หมีเหม็นเป็นยาสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง

อ้างอิง

กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อใช้ในการอ้างอิง