บริการสังคม

ต้นคำแสด (Kham saet)

ชื่อท้องถิ่น : กายขัดหิน ขี้เนื้อ (เชียงใหม่), ขางปอย ซาดป่า (นครพนม), ลายตัวผู้ (จันทบุรี), แทงทวย (ราชบุรี), ทองขาว (เลย), สากกะเบือละว้า (สุโขทัย, พิษณุโลก), ชาตรีขาว (ภูเก็ต), พลากวางใบใหญ่ (ตรัง), ขี้เต่า (สุราษฎร์ธานี), พลับพลาขี้เต่า (นครศรีธรรมราช), มะกายคัด (ภาคเหนือ), คำแดง ทองทวย แทงทวย มะคาย แสด (ภาคกลาง), ไม้เล็ง (ไทใหญ่) 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mallotus philippensis (Lam.) Müll. Arg.

วงศ์ : Euphorbiaceae

ข้อมูลทั่วไป

ลักษณะทั่วไป เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง 15 ม. หูใบรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาว 0.5–1.3 ซม. ใบรูปรีหรือรูปไข่ ยาว 4–22 ซม. ปลายเรียวแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนกลม ก้านใบยาว 1.5–5 ซม. แผ่นใบด้านล่างมีขนและต่อมเกล็ดหนาแน่น เส้นโคนใบข้างละ 1 เส้น ช่อดอกออกเดี่ยว ๆ ตามซอกใบ หรือหลายช่อตามปลายกิ่ง ยาวได้ถึง 20 ซม. ไม่มีกลีบดอก ดอกเพศผู้สีเขียว เส้นผ่านศูนย์กลาง 2–3 มม. กลีบเลี้ยง 2–4 กลีบ เกสรเพศผู้ 15–20 อัน ดอกเพศเมียสีเหลืองหรือแดง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 มม. กลีบเลี้ยง 3–6 กลีบ ก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสร 3 อัน ยาว 3–5 มม. ติดทน มีขนยาวนุ่ม ผลรูปรีกว้าง จักเป็นพู ยาว 0.8–1.2 ซม. มีต่อมและขนสีน้ำตาลแดงกระจาย มี 1–3 เมล็ด

การใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ

1. ราก ใบ และขนจากผล นำมาตำรวมกับน้ำผึ้ง ใช้เป็นยาทาแก้สิวและลอกฝ้า

2. ผลใช้ทำเป็นสีย้อมผ้าได้ โดยจะให้สีแดงที่เรียกว่า Kamela dye

3. เนื้อไม้คำแสดใช้ทำเป็นฟืนได้

 

สรรพคุณทางการแพทย์

1. เปลือกต้นช่วยบำรุงธาตุ ใช้รักษาโรคกระเพาะ แก้พรรดึก เปลือกต้นมีรสเฝื่อนใช้เป็นยารักษาแผลเรื้อรังและโรคผิวหนัง

2. เมล็ดช่วยแก้ไข้ ใช้แก้โรคเรื้อน เป็นยาขับพยาธิ ช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ เมล็ดมาทำเป็นผงใช้พอกแผลได้

3. แก่นใช้ต้มกับน้ำดื่ม ช่วยแก้ปัสสาวะแดงหรือเหลือง แก้โรคเส้น

4. ขนจากผลที่เป็นผงสีแดง ใช้เป็นยาขับพยาธิตัวกลม พยาธิตัวแบน และพยาธิตัวตืด

5. ใบและดอกมีรสเฝื่อน ใช้เป็นยาพอกบาดแผล เมล็ดมาทำเป็นผงก็ใช้พอกแผล

6. ผลและใบนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้หวัด

7. ราก ใบ และขนจากผล ใช้เป็นยาทาแก้แผลอักเสบ และเป็นยาทาแก้สัตว์มีพิษกัดต่อย วิธีการใช้

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง​

สำหรับการใช้ต้นคำแสดเป็นสมุนไพร ในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำราต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไปหรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็กสตรีมีครรภ์ หรือ ผู้ป่วยเรื้อรังก่อนจะใช้คำแสดเป็นยาสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง

อ้างอิง

กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อใช้ในการอ้างอิง