บริการสังคม

ต้นเม่าไข่ปลา (Mao khai pla)

ชื่อท้องถิ่น : มะเม่า ขะเม่าผา (ภาคเหนือ), มะเม่าผา มะเม่า (อีสาน), ขมวยตาครวย (อุบลราชธานี, กาฬสินธุ์, ชัยภูมิ), มังเม่า (จันทบุรี), เม่าไข่ปลา ขะเม่าผา (ชลบุรี), มะเม่าข้าวเบา (ชุมพร), เม่าทุ่ง (ชุมพร, สงขลา), กูแจ (มลายู-นราธิวาส), มะเม่าไข่ปลา

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Antidesma ghaesembilla Gaertn.

วงศ์ : Phyllanthaceae

 

ข้อมูลทั่วไป

ลักษณะทั่วไป ไม้ยืนต้น หรือไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงได้ถึง 20 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาลเทา แตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ กิ่งอ่อนและยอดอ่อน มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาล ใบเดี่ยว เรียงสลับ ในระนาบเดียวกัน แผ่นใบกว้างรูปไข่ถึงรูปรี กว้าง 3.5-4.5 เซนติเมตร ยาว 5-7 เซนติเมตร ปลายมนกลมหรือเป็นติ่งแหลมเล็กน้อย โคนมนกลมถึงหยักเว้า ขอบใบเรียบ ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน หรือมีขนเล็กน้อยตามเส้นใบและด้านหลังใบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงกึ่งหนาคล้ายแผ่นหนัง มีขนสั้นนุ่มถึงเกลี้ยงทั้งสองด้าน เส้นแขนงใบข้างละ 5-8 เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแหชัดเจน ก้านใบยาว 0.5-1 เซนติเมตร มีขนประปรายถึงหนาแน่น หูใบรูปลิ่มแคบ ยาว 4-6 มิลลิเมตร ร่วงง่าย ดอกออกเป็นช่อแบบช่อเชิงลด ตามซอกใบใกล้ยอดและปลายกิ่ง ยาว 1-2 เซนติเมตร แยกเพศอยู่ต่างต้น ดอกมีขนาดเล็กมาก มีดอกย่อยจำนวนมาก สีเขียว ขนาดเล็ก ดอกเพศผู้มีช่อดอกยาว 4-6 เซนติเมตร แกนช่อมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดง ใบประดับรูปใบหอก ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร  มีขนสั้นนุ่ม ดอกเพศผู้ยาว 2-3 มิลลิเมตร ไม่มีก้าน กลีบเลี้ยง 4-6 กลีบ แยกจากกัน รูปคล้ายสามเหลี่ยมถึงรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ปลาแหลมถึงมน ผิวด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม ด้านในเกลี้ยง  ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้มี 4-6 อัน ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ก้านชูอับเรณูสีขาว มีขน อับเรณูมี 2 พู ค่อนข้างกลม สีขาว มีเกสรเพศเมียที่เป็นหมัน รูปกรวยกลับ มีขนสั้นนุ่ม ปลายเกสรเพศเมียแยกเป็น 3 แฉก ช่อดอกยาว 2-3 เซนติเมตร แกนช่อมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดง ใบประดับรูปใบหอก ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร  มีขนสั้นนุ่ม ดอกเพศเมียยาว 1.5-2 มิลลิเมตร ก้านดอกย่อยยาวได้ถึง 1 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยง 5-6 กลีบ แยกจากกัน รูปคล้ายสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ปลายแหลม ผิวด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม ด้านในเกลี้ยง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่หรือกลม มีขนสั้นนุ่ม มี 1 ช่อง มีออวุล 2 เม็ด ผลเป็นช่อ ช่อผลยาว 4-7 เซนติเมตร ค่อนข้างกลมหรือรี ขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลาง 4 มิลลิเมตร ผิวมีขน ผนังชั้นในแข็ง ผลอ่อนสีขาว ผลสุกมีสีแดงคล้ำถึงดำ เมล็ดขนาดเล็ก 1-2 เมล็ด พบตามป่าเต็งรัง ที่โล่งลุ่มต่ำ ป่าละเมาะ เรือกสวนทั่วไป และป่าพรุ

 

การใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ

1. ผลสุกมีรสเปรี้ยว ใช้รับประทานได้

2. ผลสีม่วงแดงยังอุดมไปด้วยสารในกลุ่มแอนโทไซยานิน และฤทธิ์ยับยั้งอนุมูลอิสระ ในปัจจุบันได้มีการนำมาพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ในทางโภชนาการมากมาย เช่น ทำน้ำผลไม้ ไวน์ แยม ฯลฯ และอาจนำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ทางด้านการแพทย์และเภสัชกรรม เช่น การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ยา และเครื่องสำอางต่อไปได้ในอนาคต พฤกษเคมีและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของผลมะเม่า (Antidesma ghaesembilla)

3. ยอดอ่อน ใบอ่อน มีรสฝาดอมเปรี้ยวและมัน นำมาปรุงเป็นอาหาร เช่น แกงเลียง หรือใช้ต้มเป็นผักจิ้ม

4. เนื้อไม้เป็นสีแดง มีความแข็งแรง สามารถนำมาใช้ในงานก่อสร้างได้

 

สรรพคุณทางการแพทย์

1. ใบและผลเม่าไข่ปลา นำมาต้มกับน้ำอาบแก้อาการโลหิตจาง ซีดเหลือง เลือดไหลเวียนไม่ดี

2. เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง ใช้เป็นยาฝาดสมาน

3. ใบใช้ตำพอกแก้อาการปวดศีรษะ หรือใช้ผลทำเป็นยาพอกแก้อาการปวดศีรษะก็ได้

4. ใบมีสรรพคุณช่วยแก้อาการท้องบวม ใช้เป็นยาทาแก้โรคผิวหนัง

5. ผลมีสรรพคุณเป็นยาระบาย ช่วยแก้อาการท้องผูก

6. ต้นและราก มีสรรพคุณช่วยบำรุงไต แก้เส้นเอ็นพิการ แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ใช้เป็นยาแก้มดลูกพิการ มดลูกช้ำบวม อาการตกขาว ขับโลหิตและน้ำคาวปลาของสตรี ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ 

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง​

สำหรับการใช้ต้นเม่าไข่ปลาเป็นสมุนไพร ในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำราต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไปหรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็กสตรีมีครรภ์ หรือ ผู้ป่วยเรื้อรังก่อนจะใช้เม่าไข่ปลาเป็นยาสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง

อ้างอิง

กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อใช้ในการอ้างอิง