บริการสังคม

ต้นมะกอกป่า (Ma kok pa)

ชื่อท้องถิ่น : กอก กอกเขา กูก มะกอก

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Spondias pinnata (L.f.) Kurz.

วงศ์ : Anacardiaceae

 

ข้อมูลทั่วไป

ลักษณะทั่วไป เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 15-25 เมตร  ลำต้นเปลาตรง เปลือกหนา สีเทา เรียบ มีต่อมระบายอากาศมาก เปลือกชั้นในมีทางสีชมพูสลับขาว เรือนยอดเป็นพุ่มกลม โปร่ง กิ่งอ่อน เกลี้ยง และมีแผลใบปรากฎอยู่ ใบ เป็นช่อแบบขนนก ช่อยาวถึง 30 ซม. ติดเรียงสลับเวียนกัน ช่อหนึ่งๆ มีใบย่อย รูปรีๆ แกมรูปไข่กลับ ออกเป็นคู่ๆ ตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย 4-6 คู่ ใบปลายสุดของก้านช่อจะออกเดี่ยวๆ กว้าง 3-4 ซม. ยาว 7-12 ซม. ผล กลมรีๆ โตวัดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-3.5 ซม. และยาวประมาณ 5 ซม. ผลแก่ออกสีเขียวอ่อนหรือเหลืองอ่อน เมล็ดใหญ่และเข็งมาก มีเมล็ดเดียว ผิวเมล็ดเป็นเสี้ยน และมีเนื้อเยื่อบางๆ หุ้ม ออกดอกระหว่างเดือนธันวาคม-มีนาคม และเป็นผลระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน

 

การใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ

1. ผลดิบ และผลสุกมีรสเปรี้ยว และมีกลิ่นหอม ใช้ปรุงรสอาหาร เช่น ใส่แทนมะนาวในส้มตำ หรือต้มยำและแกงต่างๆ ที่มีรสเปรี้ยว

2. ยอดอ่อนมีสีแดงรื่อหรือเขียวอมแดง ไม่มีเสี้ยน มีรสเปรี้ยวอมฟาด มีกลิ่นหอม นิยมรับประทานเป็นผักกับน้ำพริก ซุบหน่อไม้ และเมนูลาบต่างๆ

3. ไม้มะกอก เป็นไม้เนื้ออ่อน แก่นไม่แข็งมาก แปรรูปง่าย ใช้แปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องเรือน และสามารถนำไปผลิตกระดาษ แต่ไม่เหมาะสำหรับไม้ก่อสร้าง

4. เปลือกต้นมะกอกใช้ฟอกย้อมแห ย้อมตาข่าย ยางเหนียว และสารสีช่วยให้แหหรือตาข่ายแข็งแรง ป้องกันสัตว์หรือแมลงกัดแทะ

สรรพคุณทางการแพทย์

ผล เปลือก ใบ ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ แก้กระหายน้ำ และเลือดออกตามไรฟัน

เนื้อของผลแก่ แก้ธาตุพิการเพราะน้ำดีไม่ปกติ รักษาโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร

 

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง​

สำหรับการใช้มะกอกป่าเป็นสมุนไพร ในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำราต่างๆไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไปหรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็กสตรีมีครรภ์ หรือ ผู้ป่วยเรื้อรังก่อนจะใช้มะกอกป่าเป็นยาสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง

อ้างอิง

กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อใช้ในการอ้างอิง